Search

Detail Energy & Power Technology

facebook.com

เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการติดต่อ สื่อสารกับทางทีมงาน
ระหว่าง แลกเปลี่ยน ความรู้ ประสบการณ์ ด้านไฟฟ้าหรือเกี่ยวข้องครับ
แวะไป พูดคุย ได้ครับ

FACEBOOK.COM/pages/Chinaree-engineering

ปล.สำหรับ บทความ และคำถามที่ส่งมา ผมจะทยอยตอบให้มากที่สุดครับ
ระยะเวลาดังกล่าว ออกไปติดตั้งงาน Turbine ตอนนี้ระบบเสร็จเกือบหมดแล้ว
จึงมีเวลามาอัพเดตข้อมูลครับ

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)

ระบบไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นการส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าแบบทิศทางเดียวจากผู้ผลิตมายังผู้บริโภคโดยผ่านสายส่งระยะไกล ก่อให้เกิดความสูญเสียในระบบไฟฟ้าเป็นอย่างมาก ประกอบกับความตื่นตัวทั่วโลกในเรื่องของสภาวะโลกร้อน อันเป็นผลมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการผลักดันให้มีงานวิจัยและการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาด เพื่อลดความสูญเสียในการส่งพลังงานไฟฟ้าจากระยะไกลทำให้มีระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่เกิดขึ้น ระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้ มีแนวคิดโดยมุ่งเน้นให้ภาคการผลิตอยู่กับผู้บริโภคมากขึ้น และการพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้เป็นการเปิดช่องทางให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าด้วย การสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กของตนเอง อาทิ แผงโซลาร์บนหลังคาบ้าน หรือแม้กระทั่งการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยมุ่งเน้นให้พลังงานที่ผลิตขึ้น มาได้นั้นสามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน และพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการบริโภค ผู้บริโภคสามารถขายคืนสู่ระบบส่งจ่ายไฟฟ้าหลักได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระการผลิตไฟฟ้า และเป็นการกระจายแหล่งพลังงานเพื่อลดความสูญเสียในระบบส่งไฟฟ้า อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
          ระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบทิศทางเดียว เป็นการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบสองทิศทาง โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการสื่อสารและบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลการบริโภคพลังงานของผู้บริโภค ณ ช่วงเวลานั้น และบริหารจัดการการใช้พลังงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านความพอใจในการบริโภคพลังงานไฟฟ้า และจำนวนเงินที่ต้องสูญเสียไปในการบริโภคพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงจำนวนเงินและปริมาณไฟฟ้าที่ผู้บริโภคสามารถประหยัดได้ หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ทั้งนี้การรับทราบขัอมูลการบริโภคไฟฟ้าดังกล่าวอาจส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคพลังงานไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงไป และเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดจิตสำนึกในการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น การที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าแบใหม่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร มีความมั่นคง และมีความสมดุลระหว่างภาคการผลิตและภาคการบริโภค จึงทำให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาที่เรียกกันต่อมาว่า สมาร์ทกริด (Smart Grid) หรือ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ
          ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) หมายถึง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมาบริหารจัดการด้านการควบคุมการผลิต การส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า ทำให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาด หรือระบบแหล่งผลิตไฟฟ้ากระจายตัว (Distributed Generation : DG) และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งให้บริการแก่ผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง และเชื่อถือได้ รวมทั้งมีคุณภาพไฟฟ้าได้มาตรฐานสากล ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ให้ไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ดังนี้
1. การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และข้อจำกัดด้านการจัดหาเชื้อเพลิงพาณิชย์ในอนาคต
2. ความจำเป็นในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดต้นทุนในภาคการผลิต
3. กระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนไปสู่ Low carbon Economy
4. การพัฒนาระบบไฟฟ้าของไทยเพื่อความมั่นคงและรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น
5. การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าในอนาคต